ฟังเพลงให้เก่งภาษา ต้องฟังแบบไหน ? ตอนที่ 1 : เทคนิคการฝึกภาษาจากเพลงสากลแบบ step-by-step !

Let's share this :)

หลายคนอาจจะรู้อยู่แล้วว่าการฟังเพลงเป็นวิธีฝึกภาษาที่ดีมาก ๆ แต่ก็อาจจะไม่รู้ว่าต้องฟังแบบไหน แค่เปิดฟังไปเรื่อย ๆ ก็เก่งเลยหรือเปล่า ?

นินจาเป็นคนหนึ่งที่ภาษาอังกฤษดีขึ้นแบบก้าวกระโดดมาก ๆ ตั้งแต่เริ่มฟังเพลงสากล จากที่เคยงู ๆ ปลา ๆ มาก่อนเหมือนกัน ก็เลยอยากมาแบ่งปันเทคนิคในการฝึกภาษาด้วยตัวเองจากการ “ฟังเพลงสากล” ทีละขั้นตอนเลย แบบว่าถ้าทำตามแล้วจะเก่งภาษาขึ้นอย่างแน่นอนฮะ !

**ปรับ mindset กันก่อน**

ก่อนอื่นเลย มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนที่ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ ก็คือ “ความกลัวผิดแกรมม่า” นั่นเอง

บางคนอาจจะบอกว่าเพลงสากลชอบมีคำแปลกๆ หรือว่าแกรมม่าผิด ๆ อันนี้นินจาขอบอกเลยว่า “การหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เราเก่งภาษาขึ้น” เลยนะ อย่าลืมว่าเพลงสากลก็เขียนโดยฝรั่งที่ใช้ภาษาอังกฤษจริง ๆ นั่นแหละ คำว่า “ไม่เหมือนที่เคยเรียนมา” ไม่ได้แปลว่า “ในชีวิตจริงเขาไม่ใช้คำแบบนี้กัน” เพราะยังมีอะไรอีกมากมายที่เราไม่เคยเห็นในห้องเรียน

สิ่งหนึ่งที่นินจาอยากแนะนำสำหรับคนอยากฝึกภาษา คือต้อง “หมั่นสงสัยเข้าไว้” ถ้าเราเจออะไรที่คิดว่าไม่เหมือนที่เรียนมา มันอาจจะไม่ผิดก็ได้ มันแค่อาจจะใช้ได้หลายแบบ ก็ลองไปหาคำตอบดูว่าจริง ๆ มันใช้ได้กี่แบบ มีอะไรบ้าง แต่ละแบบใช้ต่างสถานการณ์กันยังไง เพราะจริง ๆ โลกนี้นินจาว่ามันไม่มีอะไรที่เรียกว่า “ผิด” หรือ “ถูก” หรอก  มีแต่ว่าอะไรเหมาะกับสถานการณ์ไหน เวลาไหน ใช้กับใคร อะไรแบบนี้ต่างหาก

เอาล่ะ! ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูเทคนิคการฝึกภาษาจากเพลงสากลทีละขั้นตอนกันเลยฮะ ~

1. เลือกเพลงที่ชอบ

คนเรามักจะอยู่กับอะไรที่เราชอบได้นานกว่าเสมอ

เพราะฉะนั้นก่อนอื่นให้เราเลือกเพลงที่รู้สึกชอบ เพลงที่ฟังได้ซ้ำ ๆ แล้วไม่เบื่อ หรือเพลงที่อยากร้องให้ได้ หาเพลงแบบนี้มาให้ได้ก่อนเลย ไม่ต้องกลัวว่าเพลงนั้นจะยากหรือร้องเร็วไปไหม แค่เป็นสักเพลงที่ถูกใจจริง ๆ

2. อ่านเนื้อเพลง

การอ่านเนื้อเพลงเป็นเหมือนการช่วยให้สมองเราเชื่อมโยงคำศัพท์ที่เป็น “ตัวอักษร”  กับ “เสียง” ที่เราได้ยิน ทำให้เรียนรู้ภาษาได้ไวขึ้นมาก ๆ เลยนะ

ลองปริ้นเนื้อเพลงออกมาอ่านก่อนสักรอบ เทคนิคก็คือถ้าเจอคำไหนไม่คุ้นหน้าคุ้นตาก็ให้เราเปิดหาความหมายแล้วจดเอาไว้อีกหน้าหนึ่ง หรือในสมุดจดคำศัพท์ของเราก็ได้ (ควรมีสมุดเล่มเล็ก ๆ เอาไว้จดคำศัพท์ที่เราไม่รู้ด้วยนะ) แต่ไม่จำเป็นต้องแปลได้หมดทั้งเพลงนะ ไม่เป็นไรเลยฮะ แค่ทำความรู้จักกับคำศัพท์ใหม่ ๆ ก็พอ

จากนั้นก็ลองเปิดเพลงฟังแล้วมองเนื้อตามไปด้วย จุดประสงค์คือมันจะทำให้เราคุ้นเคยกับหน้าตาของคำที่เราได้ยินในเพลง เราจะนึกออกว่าเวลาได้ยินคำนี้แล้วมันเขียนยังไง ช่วยพัฒนาเรื่องของการฟัง เพิ่มคลังคำศัพท์ให้ตัวเอง และยังทำให้จำเนื้อเพลงได้ดีขึ้นด้วยนะ

แต่ถ้าอยากเข้าใจความหมายโดยรวมทั้งเพลงเพื่ออรรถรส ก็ลองหาอ่านที่มีคนแปลเพลงเป็นภาษาไทยไว้ก็ได้

3. ฝึกเลียนแบบเสียง

หลังจากฟังเพลงมาจนพอจับทำนองได้และคุ้นกับคำส่วนใหญ่แล้ว ทีนี้ก็ลองตั้งใจฟังแล้วฝึกออกเสียงตามทีละท่อน เสมือนกับว่ากำลังฝึกร้องเพลงเลย

สิ่งสำคัญในขั้นนี้คือ “ให้ออกเสียงให้เหมือนต้นฉบับมากที่สุด” ให้ลืมไปก่อนเลยว่าเราเคยออกเสียงคำๆ นั้นยังไง แล้วเลียนแบบให้เหมือนในเพลงก็พอ ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สำเนียงของเราดีขึ้นเรื่อย ๆ แบบไม่รู้ตัว

ยกตัวอย่างคำว่า Beautiful ถ้าเราอ่านตามที่มันเขียนเราอาจจะอ่านว่า บิว-ตี้-ฟูล แต่พอฟังสำเนียงฝรั่งแล้วมันอ่านว่า บยิว-ดิโฟล ก็ให้เราออกเสียงว่าบยิวดิโฟล อย่าไปยึดติดว่า beau = บิว ti = ติ ful = ฟูล เพราะมันจะทำให้ภาษาของเราฟังดูไม่เป็นธรรมชาติสักที

4. เดาเนื้อเพลง

พอคิดว่าเริ่มจำเนื้อได้บ้างแล้ว เคล็ดลับต่อมาก็คือการ “หลับตาฟังเพลง” หรือฟังแบบไม่มองเนื้อเพลงดู มันจะเริ่มฟังออกบ้างแล้วเพราะเราจะรู้ล่วงหน้าว่าท่อนต่อไปจะร้องว่าอะไรนั่นเอง

แต่ถ้ามีจุดไหนก็ลืมก็แค่สลับมาดูเนื้อเพลงบ้าง เหมือนเป็นการฝึกสมองว่า “จำได้เปล่าน้า” “เอ๊ะ คำนี้อะไรน้า” เหมือนโฟกัสมันจะแคบลงเหลือแค่บางคำที่เราอาจจะยังจำไม่ได้ ทำให้เราสนใจคำนั้นมากขึ้นจนสุดท้ายเราจะจำมันได้แม่นเลย

ลองทำไปเรื่อย ๆ แล้วจะตกใจว่าอยู่ดี ๆ ทำไมเปิดเพลงมาแล้วเราร้องตามได้หมดเลย ! (อ่านแล้วอาจจะดูเหมือนยากจัง แต่พอทำบ่อยๆ แล้วมันง่ายขึ้นมากเลยนะ)

5. ฟังวนไปหลายๆ ที

ที่บอกว่าให้เลือกเพลงที่ชอบก็เพราะแบบนี้แหละ จะได้ฟังซ้ำ ๆ ได้แล้วไม่เบื่อ

การที่เราฟังซ้ำ ๆ จะยิ่งทำให้เราคุ้นเคยกับทุกอย่างในเพลง แล้วเริ่มสังเกตอะไรบางอย่างที่เป็นความรู้ใหม่ ๆ เช่น การเชื่อมเสียง อย่างคำว่า This is ไม่ได้ออกเสียงว่า ดีส อีส แต่มันจะเชื่อมรวมกันเป็น ดีสซิส ซึ่งพอเราไปได้ยินคำนี้ในชีวิตประจำวันเราก็จะฟังออก เพราะเราฟังเพลงมันออกเสียงแบบนี้มาจนคุ้นเคยแล้วนั่นเอง

กลับกันถ้าเราได้ยินว่า ดีสซิส ครั้งแรกโดยที่ไม่รู้มาก่อนเลยว่ามันคือการเชื่อมเสียงของคำว่า This is เราอาจจะฟังเป็น Disease (โรค) ซึ่งเป็นคำคนละความหมายไปเลยก็ได้

6. เขียนเนื้อเพลงเล่น

ขั้นตอนสุดท้ายที่นินจาทำก็คือ การเขียนเนื้อเพลงออกมาทั้งเพลงลงบนกระดาษด้วยตัวเองเลย

วิธีนี้คล้าย ๆ กับการที่เราร้องเพลงออกมาเองโดยที่ไม่ได้เปิดเพลง แต่การเขียนออกมาจะช่วยฝึกการประมวลผลเป็นตัวอักษร ทำให้ทักษะการเขียนและสะกดคำของเราดีขึ้นด้วยนะ ถ้าทำได้ทั้งเพลงแสดงว่าเก่งมากเลยฮะ

พอเขียนออกมาทั้งเพลงแล้วก็จะรู้ว่า นั่นแหละปริมาณภาษาที่เราได้เรียนไปล่ะ ทั้งคำศัพท์ รูปประโยคต่างๆ มันเข้าไปอยู่ในสมองเราหมดแล้ว !


เอาล่ะ นินจาบอกขั้นตอนเบื้องต้นในการเรียนภาษาอังกฤษจากเพลงสากลไปหมดแล้ว ทุกคนเอาไปลองทำตามได้เลยนะ รับรองว่าการฟังเพลงสากลครั้งต่อๆ ไปของทุกคนจะมีประโยชน์มากกว่าแค่ความสุนทรีย์แน่นอน

ครั้งหน้านินจาจะมาแนะนำเทคนิคเพิ่มเติมที่เราสามารถต่อยอดได้จากการฟังเพลงสากลเพื่ออัปเกรดสกิลทางภาษาของเราขึ้นไปอีกขั้น อย่าลืมติดตามกันนะฮะ


Let's share this :)

Recommended Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published.