ฟังเพลงให้เก่งภาษา ต้องฟังแบบไหน ? ตอนที่ 2 : เทคนิคการต่อยอดความรู้จากการฟังเพลงสากล

Let's share this :)

ครั้งก่อนนินจาได้แนะนำเทคนิคการฝึกภาษาจากเพลงสากลแบบ step-by-step ไปแล้ว วันนี้เราจะมาดูสิ่งที่ทุกคนสามารถต่อยอดได้หลังจากการฟังเพลงสากลมาอย่างต่อเนื่อง ที่จะทำให้สกิลภาษาอังกฤษของเราพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นเลยทีเดียวฮะ มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง

 

ฝึกหาชื่อเพลงที่ไม่รู้จัก

สมัยก่อนที่ยังไม่มีแอป shazam หรือโปรแกรมหาชื่อเพลงอื่น ๆ เวลาอยากรู้ชื่อเพลงใหม่ที่ได้ยินในวิทยุแล้วดีเจดันไม่บอกชื่อเพลง สิ่งที่นินจาทำก็คือ พยายามฟังว่าเราได้ยินคำว่าอะไรในเพลงนั้นบ้าง จดออกมาเป็นคำ ๆ ให้ได้มากที่สุด แล้วก็เอาคำพวกนั้นมาเรียงต่อกัน เสร็จแล้วก็เอาไปเซิร์จในกูเกิ้ลโดยการต่อท้ายด้วยคำว่า “lyrics” เพื่อหาว่านี่มันเพลงอะไร แล้วเราก็จะได้ชื่อเพลงที่เราต้องการออกมา

ตรงนี้นินจาว่ามันช่วยพัฒนาการฟังได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียวนะ เพราะหลังจากฟังเพลงและอ่านเนื้อตามมาสักระยะเราก็เริ่มจะคุ้นเคยกับคำหรือประโยคที่ได้ยินซ้ำๆ ในเพลงบ้างแล้ว ขั้นนี้เลยเป็นการฝึกฟังแบบยังไม่เห็นเนื้อเพลงนั่นเอง

พอพบว่าเราเดาคำได้ถูก มันจะรู้สึกดีเหมือนว่าเออเราก็เริ่มฟังออกแล้ว เริ่มเก่งขึ้นแล้วเนอะ เหมือนเป็นผลลัพธ์ที่เราเริ่มสัมผัสได้

 

ลองติดตามศิลปินที่ชอบ

พอได้ฟังหลาย ๆ เพลงแล้ว เราก็จะได้รู้จักสไตล์เพลงที่หลากหลายและรู้จักศิลปินมากขึ้น ก็อาจจะลองเลือกศิลปินฝรั่งสักคนมาเป็นไอดอล หรือลองติดตามเขาดู

อย่างนินจาเคยตาม Avril Lavigne ด้วยความรู้สึกว่าชอบแนวเพลง ชอบสไตล์ และอยากรู้จักคนคนนี้ให้มากขึ้น เลยไปดูคลิปติดตามชีวิตเธอเยอะแยะมาก ทั้งคลิปสัมภาษณ์ คลิปทัวร์คอนเสิร์ต คลิปประวัติชีวิต รวมไปถึงหาอ่านข้อมูลในเว็บต่าง ๆ ว่าคนนี้ชอบสีอะไร ชอบกินอะไร ฯลฯ โดยหาข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเลย

ใช้เทคนิคเดิมก็คือ เจอคำไหนแปลไม่ออกก็เปิด dict เอา หรือถ้าเป็นคลิปวิดีโอก็พยายามเร่งเสียง เปิดวนซ้ำไปจนกว่าจะพอฟังออก ตรงไหนฟังไม่ออกจริง ๆ ก็ข้ามไป ฝึกไปเรื่อย ๆ ที่จริงพอเราฟังเพลงของคนคนนี้มาสักระยะมันจะคุ้นกับเสียงและสำเนียงของเขามากขึ้นแหละ

แต่เดี๋ยวนี้ใน youtube มันมีฟังก์ชั่นเปิดซับไตเติ้ลหรือที่เรียกว่า CC ทำให้ง่ายขึ้นเยอะมาก นินจาแนะนำว่าลองฟังแบบไม่ดูซับก่อน ถ้าฟังไม่ออกจริง ๆ ค่อยกลับมาเปิดซับตรงที่ฟังไม่ออก อาจจะเสียเวลานิดหน่อยแต่ว่าได้ฝึกภาษามากกว่าแน่นอน

 

ตรวจสอบแกรมม่าในเพลง

อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่า พอฟังเพลงสากลเราจะได้เจอกับความหลากหลายทางภาษาที่มากขึ้น บางอย่างอาจไม่เหมือนสิ่งที่เคยรู้มาในห้องเรียน

พอจะต้องจำไปใช้ในชีวิตจริงเราก็อาจจะเริ่มอยากตรวจสอบให้แน่ใจก่อน ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์บางคำที่ถึงแม้จะเปิดพจนานุกรมแล้วก็ยังไม่เห็นเข้าใจ หรือประโยคนี้ถูกแกรมม่าหรือเปล่า เพราะในเพลงบางทีมันก็พวกคำสแลงที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม หรือการดัดแปลงรูปประโยคเล็กน้อยเพื่อให้ดูเท่ หรือให้ลงจังหวะในเพลงบ้างก็มี ซึ่งนินจามองว่ามันเป็นศิลปะของภาษานะ

เทคนิคที่นินจาใช้หาคำตอบเวลาสงสัยเรื่องไหน นอกจากถามอาจารย์แล้ว ก็คือ เข้าไปถามในอินเตอร์เน็ต เลยฮะ มันจะมี forum ต่าง ๆ เหมือนพวกกระทู้เด็กดี พันทิป ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษาโดยเฉพาะ เยอะแยะมาก แล้วก็จะมีเจ้าของภาษาหรือคนที่มีความรู้มาตอบให้เรา มันดีมาก ๆ เลยนะ เดี๋ยวนินจาจะอธิบายเรื่องนี้แบบละเอียดแยกอีกที

พอเราหาความรู้เพิ่มเติมก็จะเข้าใจที่มาที่ไป จนถึงบางทีก็ฝึกดัดแปลงคำเองมากก็มี กลายเป็นว่ามีทางเลือกการใช้ภาษาที่หลากหลายและสนุกมากขึ้น ถ้าเราเปิดใจแล้วจะพบว่าภาษาเป็นสิ่งที่อิสระและไม่ได้ตายตัวอย่างที่เราคิดเลยนะ


ทั้งหมดนี้ก็คือเทคนิคที่นินจาใช้ในการเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองจากการฟังเพลงสากล

พอมันมาถึงจุดที่เราดูคลิปสัมภาษณ์ฝรั่งสักคนแล้วเราฟังออก ฟังเนื้อเพลงใหม่ ๆ ออก จำเนื้อได้เร็วขึ้น หรือพอเพลงเก่าที่รู้จักดังขึ้นมาแล้วอยู่ดี ๆ ก็รู้สึกว่า “เห้ย ที่เราฟังมาตลอดมันแปลว่าแบบนี้เองหรอเนี่ย” อยู่ดี ๆ ก็เข้าใจเฉยทั้งที่เมื่อก่อนฟังไม่ออกเลย

ทุกอย่างมันเป็นผลมาจากการสะสมทักษะของเรามาเรื่อย ๆ เนี่ยแหละ แล้วมันก็จะเป็นพื้นฐานภาษาที่ทำให้เราเอาไปต่อยอดในชีวิตประจำวันได้อีกเยอะมาก ทั้งการพูดคุย ดูหนัง ฟังข่าว และอีกมากมาย รวมถึงอาจจะทำให้คะแนนภาษาอังกฤษเราดีขึ้นแบบไม่รู้ตัวเลยนะ


Let's share this :)

Recommended Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published.